บทความในวันนี้แอดมินขอพาเพื่อนๆ ไปรำลึกถึงความทรงจำเก่าๆ เกี่ยวกับบ้านไม้สไตล์พื้นถิ่น ซึ่งบ้านที่เราจะพาไปชมในวันนี้มีชื่อว่า Baan Jihang Saen ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นผลงานการออกแบบของ Housescape Design Lab ซึ่งมาในรูปแบบบ้านสไตล์ร่วมสมัย เน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติ ดีไซน์ให้มีความลงตัวทุกตารางนิ้ว รับรองว่าใครไปชมแล้วก็ต้องหลงรักอย่างแน่นอน
ไอเดียบ้านไม้สไตล์พื้นถิ่น
ผลงานและรูปภาพ : Housescape Design Lab
เรียบเรียงโดย : iHome108
ความตั้งใจแรกของเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบคือการรื้อบ้านไม้หลังเก่าอายุ 60 ปี ออกไป และนำไม้ทั้งหมดของบ้านหลังเดิมกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของบ้านชั้นเดียว ที่มีพื้นที่ใช้สอยสมัยใหม่มากกว่าหลังเดิม
เราเริ่มต้นด้วยการลงสำรวจบ้านหลังเก่า ว่าก่อนหน้านี้พื้นที่ใช้สอยในแต่ละมุมของบ้าน ทำหน้าที่ถ่ายทอดการรับรู้แบบไหนบ้างให้กับผู้อยู่อาศัย ซึ่งเราพบว่า กิจกรรมประจำวันของผู้ใช้อาคารผูกโยงกับการใช้แสงธรรมชาติในระดับที่แตกต่างกัน แสงธรรมชาติถูกกำหนดการใช้งานด้วยวัสดุทั้งถาวรและชั่วคราว ทั้งจริงจังหนักแน่น และบางเบา พริ้วไหว ดังนั้นแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้ผู้ใช้งานอาคารจะมีความสัมพันธ์ที่พิเศษกับความหมายของวัสดุที่หลากหลาย มากกว่าการอยู่กับวัสดุในเชิงสถาปัตยกรรมที่เหล่าสถาปนิกคุ้ยเคย
รายละเอียดในแต่ละจุดของบ้านหลังนี้ คือการใช้ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่หนักหน่วง เราพยายามใช้วัสดุที่แสดงความเป็นธรรมดาสามัญของมันออกมาให้มากที่สุด โดยเฉพาะไม้ที่เป็นวัสดุอันคุ้นเคยของเจ้าของบ้าน เราใช้เหล็กมาช่วยเสริมความหมายที่หนักแน่นให้กับวัสดุอย่างไม้ มันทำให้เราเห็นว่าไม้สามารถขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของตัวมันเองมากกว่าที่เราเคยใช้ในงานชิ้นก่อนๆ
นอกจากไม้แล้ววัสดุอื่นๆ ที่อยู่ในกิจกรรมประจำวันในบ้านหลังเดิมยังมี เหล็กดัดกันขโมยที่เป็นหนึ่งในภาพจำของบ้าน ซึ่งความหมายในเชิงการใช้งานนอกจากจะเอาไว้กันขโมยแล้ว มันยังมีประโยชน์ใช้สอยในแง่ของการเป็นที่พักหรือแขวนวัตถุอื่นๆ ที่มีความสำคัญหรือกันไม่ให้ลืมเพื่อที่จะหยิบจับใช้ได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เราจึงนำเหล็กดัดนั้นกลับเข้ามาเล่าอีกครั้งในบ้านหลังใหม่ และหันไปทิศทางที่คุ้นชิน คือหน้าบ้าน
อีกเรื่องคือส่วนของหลังคา ภูมิอากาศในเขตภาคเหนือของไทยมีลักษณะร้อนชื้นฝนตกหนัก หลังคา Seamless Roof จึงถูกนำมาใช้เพราะต้องการควบคุมเรื่องงบประมาณ และศักยภาพของมันสามารถอยู่กับอาการที่สุดโต่งแถบนี้ได้ดีพอสมควร แต่อีกเรื่องที่เรากำหนดเลยว่าควรต้องมีคือ ชายคาที่ยื่นปกคลุมทั้งหมดของตัวอาคารซึ่งจำเป็นมากๆ อย่างที่บอกว่าอากาศแถบนี้สุดโต่ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ต้องรับสภาพหนักหนาอันนี้ มันรวมไปถึงตัววัสดุอย่างซีเมนต์และคอนกรีตด้วย พวกมันจะแสดงอาการร้าวออกมาหลังจากที่มันต้องปะทะกับสภาพอากาศแบบนี้โดยตรงตลอด 2 ปี นั่นแหล่ะจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเริ่มไม่สบายใจเท่าที่ควร
ในส่วนของครัวนอกมันเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่บ้านทุกหลังจะต้องมีครัวนอกแยกออกมาจากส่วนเตรียมอาหาร เพราะคนท้องถิ่นภาคเหนือรวมถึงพวกคนไทยมีวิถีปฏิบัติในการทำอาหารที่ใช้รสชาติจัด มีกลิ่นรุนแรง ซึ่งครัวนอกจะถูกวางไว้ในตำแหน่งที่อากาศไหลเวียนสะดวก และมีการใช้วัสดุที่ไม่ปิดทึบเพราะกระบวนการอาหารเหล่านี้ต้องการสิ่งสำคัญคือการเข้าถึงแสงธรรมชาติ
. อีกส่วนหนึ่งที่ให้ความหมายในเชิงวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นภาคเหนือของไทยคือ “ฮ้านน้ำ” มันเป็นเสมือนส่วนต้อนรับแขกที่อยู่บริเวณหน้าสุดของบ้าน ประโยชน์ใช้สอยของมันคือ เป็นที่ตั้งของกระติกน้ำ เพื่อให้แขกใช้ดื่ม และนั่งพักให้หายร้อน พร้อมกับมีบทสนทนากันช่วงเวลาหนึ่ง มันเป็นพื้นที่ต้อนรับที่ไม่ได้ใช้เวลานาน ไม่ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวในบ้าน ผู้คนเหล่านั้นแวะเวียนมาทักทายและพูดคุยกันเป็นธรรมเนียมปกติอยู่แล้วในแถบนี้
Area: 210 m²
Year: 2021
Design Team : Pair Thiprada , Lac Soyjiin , Sirawish JoInternship Supporting Team : Panuwat Donthong, Worapon Funong, Siriwimon Wimonsuk, Nuttakrit Panya, Phunnathon Phrianphanich, Thanakorn Namrueang, Chanapat Janwong
Housescape Team Maker : ช่างรุจ, ช่างตุ๋ย, ช่างชา, ช่างฝั้น, ช่างทูล, ช่างลุงบุญ, ช่างมด, ช่างบรรเจิด
Clients : Churarat Wongkaew
Engineering : Jar pilawan
Interior Design & Landscape: Housescape Design Lab
Interior Builder Team : Yellow Pillows Interior & Built-in Co.,Ltd , Chiang mai
Architectural Photographer : Rungkit Charoenwat
ถ้าหากเพื่อนๆ ท่านใดที่สนใจแบบชั้นเดียวสวยๆ แบบนี้ สามารถเข้าไปชมผลงานการออกแบบได้จากทางเพจ Housescape Design Lab หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดตามข้อมูลด้านล่างนี้ได้ค่ะ
ช่องทางการติดต่อ
Page : Housescape Design Lab